เครื่องจักร อุปกรณ์ ถังเก็บ ภาชนะต่างๆ หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีไวไฟนั้น ต้องทำการต่อสายดิน (Grounding) หรือต่อฝาก(Bonding) เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากไฟฟ้าสถิตย์ ไฟฟ้าสถิตย์สามารถทำให้เกิดการจุดติดไฟของสารเคมีไวไฟได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของประจุไฟฟ้าสถิตย์ที่เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีการต่อสายดิน (Grounding) และต่อฝาก (Bonding) ให้เหมาะสมตามมาตรฐานสากล ซึ่งการต่อสายดิน และการต่อฝากของเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อป้องกันเพลิงไหม้จากการประทุของไฟฟ้าสถิตย์ ตัวอย่างเช่น NFPA 77 Recommended Practice on Static Electricity หรือ มาตรฐานของกระทรวงพลังงานที่ได้มีการระบุมาตรฐานของการทำระบบ Grounding หรือ Bonding ไว้ดังต่อไปนี้
การป้องกันการสะสมของประจุไฟฟ้าสถิตย์ในบริเวณที่มีสารไวไฟ
- ต้องมีการเชื่อมต่อเพื่อถ่ายเทประจุไฟฟ้าอย่างเพียงพอและมีความต่อเนื่องทางไฟฟ้าโดยตลอด
- ตัวนำลงดินต้องทำด้วยทองแดงชนิดตีเกลียว มีขนาดพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่า 16 ตารางมิลลิเมตร หรืออะลูมิเนียมชนิดตีเกลียว มีขนาดพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่า 25 ตารางมิลลิเมตร เพื่อป้องกันความเสียหายจากการหักงอ
- ตัวนำประสานต้องเป็นวัสดุชนิดที่นำไฟฟ้าและมีค่าความต้านทานไม่เกิน 10 โอห์ม
- ค่าความต้านทานของรากสายดิน ต้องมีค่าไม่เกิน 10 โอห์ม
- ต้องมีจุดต่อลงดินเพื่อถ่ายเทไฟฟ้าสถิตย์จากรถขนส่งน้ำมัน หรือรถไฟขนส่งน้ำมัน
- ระบบท่อน้ำมัน และอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ ต้องทำการต่อตัวนำประสานและต่อรากสายดิน
- ระบบท่อน้ำมัน และอุปกรณ์ที่เป็นอโลหะ ซึ่งใช้งานอยู่ในบริเวณที่มีการรับหรือจ่ายน้ำมัน ต้องออกแบบและใช้งาน เพื่อป้องกันการเกิดประกายไฟจากไฟฟ้าสถิตย์
- บริเวณที่ต่อตัวนำประสาน จุดต่อลงดินและที่คีบจุดต่อลงดิน ต้องมีความสะอาด และไม่มีการทาสี
- ก่อนการถ่ายเทน้ำมันระหว่างรถขนส่งน้ำมันหรือรถไฟขนส่งน้ำมันกับถังเก็บน้ำมันต้องต่อตัวนำประสานเข้ากับจุดต่อลงดิน และปลดออกภายหลังการถ่ายเทน้ำมันเสร็จสิ้น เว้นแต่รถไฟขนส่งน้ำมันที่มีการถ่ายเทประจุไฟฟ้าผ่านรางรถไฟที่ต่อรากสายดินไว้แล้ว
- ก่อนที่จะทำการบรรจุน้ำมันลงภาชนะบรรจุน้ำมัน ต้องต่อตัวนำประสานจากจุดต่อลงดินเข้ากับภาชนะบรรจุน้ำมัน และปลดออกภายหลังการบรรจุน้ำมันเสร็จสิ้น หรือทำการลดการสะสมของประจุไฟฟ้าด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสม

















